วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระยากง พระยาพาน

พระยากง เจ้าเมืองศรีวิชัย (นครชัยศรี) มีบุตรชื่อว่าพระยาพาน เมื่อแรกเกิดโหนได้ทำนายเอาไว้ว่า ทารกนี้มีบุญญาธิการมาก แต่จะทำปิตุฆาต พระยากงจึงสั่งให้นำทารกนั้นไปทิ้งเสียในป่า

แต่บังเอิญ ยายหอมซึ่งเป็นชาวบ้านหาเช้ากินค่ำอยู่แถวป่า ได้ไปเจอเด็กทารกที่ถูกทิ้งไว้ และได้นำกลับมาเลี้ยงจนเติบใหญ่ขึ้นมา และได้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัย พระยาพานเห็นวาเมืองราชบุรีนี้ไม่ควรที่จะเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัยอีกต่อไป และไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้เมืองศรีวิชัยตั้งแต่บัดนั้น จึงทำให้พระยากงแห่งเมืองศรีวิชัยโกรธมาก และยกกำลังกองทัพออกไปปราบปรามเมืองราชบุรี

ฝ่ายเจ้าเมืองราชบุรีก็ให้พระยาพาน ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมยกกำลังกองทัพออกไปต่อสู้ ในที่สุดพระยากงแห่งเมืองศรีวิชัยก็ถูกฆ่าตายในสนามรบ พระยาพานจึงได้เคลื่อนทัพเข้าเมืองศรีวิชัย หมายจะเอาภรรยาเจ้าเมืองศรีวิชัยมาเป็นภรรยาของตน ฝ่ายเทพยดาจึงได้เนรมิตเป็นแมวแม่ลูกอ่อนมานอนขวางบันไดไว้ ขณะที่พระยาพานเดินเข้าไปในห้องเพื่อไปหาภรรยาของพระยากง ก็ได้ยินเสียแม่แมวพูดกับลูกน้อยว่า "นับประสาอะไรกับสัตว์เดรัจฉานอย่างเราที่ท่านเดินข้าม มารดาของท่าน ท่านก็ยังคิดจะเอาเป็นเมียเลย"

ฝ่ายมารดาของพระยาพาน เมื่อเห็นรอยแผลเป็นที่หน้าผาก ซึ่งเมื่อตอนคลอดลูกชายออกมา หน้าผากไปกระทบกับพานจนกแตก ก็จำได้ว่า ชายคนนี้คือบุตรชายของตน จึงได้ยกมือขึ้นอธิษฐานว่า "หากชายผู้นี้เป็นบุตรของข้าฯ ก็ขอให้มีน้ำนมไหลออกมาจากอกของข้าฯ เถิด"

ครั้นสิ้นคำอธิษฐานก็ปรากฏว่ามีน้ำนมไหลออกมาจากอกของนางจริง ๆ นางจึงได้เล่าความเป็นจริงทั้งหลายให้พระยาพานฟังจนหมดสิ้น

พระยาพานครั้นได้ฟังมารดาเล่าความจริงให้ฟังดังนั้น ก็รู้สึกเสียใจและโกรธยายหอมที่ไม่ยอมบอกความจริงเสียแต่แรก จึงได้สั่งทหารไปจับยายหอมฆ่าเสีย ครั้นได้สำนึกความผิดที่ตนได้ฆ่าพ่อ พระยาพานจึงไปปรึกษาคณะสงฆ์เพื่อหาวิธีถ่ายบาปกรรมที่ตนทำไว้ จึงได้รับคำแนะนำจากคณะสงฆ์ว่า ให้สร้างเจดีย์สูงเท่านกเขาเหินขึ้น

พระยาพานจึงได้ก่อเจดีย์ขึ้นเป็นรูปทรงคล้ายกับลอมฟาง สูงชั่วนกเขาบินเหิน แล้วบรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้วไว้ด้วยพระองค์หนึ่ง เมื่อสร้างสำเร็จแล้วทำการฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน แล้วจึงถวายเขตแดนโดยรอบพระเจดีย์ชั่วเสียงช้างร้อง ถวายข้าพระโยมสงฆ์เป็นจำนวน สำมะโนครัว ๕๕๕ ครัว

พระปฐมเจดีย์ถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นเวลาเกือบพันปี จนกระทั่งถึงกรุงรัตโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงบูรณะใหม่ โดยการสร้างเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม เอาไว้ต่อยอดเจดีย์องค์ใหม่ให้มีความสูง ๑๒๐.๔๕ เมตร พร้อมกับสร้างวิหาร ระเบียงคดรายรอบองค์พระเจดีย์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการประดับกระเบื้องสีทองรอบองค์พระปฐมเจดีย์ พร้อมกับสร้างหอระฆังรายรอบองค์พระเจดีย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วิหารหลวงเพิ่มเติม และทรงโปรดเกล้าฯ ให้วาดภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านในของวิหาร วิหารด้านทิศเหนือได้ถูกรื้อแล้วสร้างขึ้นใหม่ ล้วอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วิหารนี้ด้วย และทรงพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น